EN TH

กลุ่มบีอีซี ตระหนักดีว่าการทุจริตคอร์รัปชันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ในฐานะของสื่อมวลชนที่ดี เราจึงดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และยึดมั่นในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

ไม่สนับสนุนกิจการ กลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่มีส่วนร่วม หรือรู้เห็นกับการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่พึงได้รับ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม จากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้ เรายังมีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนที่มีแนวทางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมไทย และเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารของกลุ่มบีอีซี ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance หรือ ESG) ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดนโยบายในด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนทำความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการดำเนินงานตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อใช้ในการป้องกัน ตรวจพบ และตอบสนองต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขององค์กร โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 คณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัตินโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (ฉบับปรับปรุง), นโยบายการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน, นโยบายการให้-รับของขวัญ การรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ, นโยบายการบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน, นโยบายการช่วยเหลือทางการเมือง, นโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งนโยบายการรับเรื่องร้องเรียนและข้อเสนอแนะ และได้ทำการเผยแพร่ให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กรรับทราบ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการอบรมบุคลากรในหัวข้อ “การเผยแพร่นโยบายและแนวทางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้มีการประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564

กลุ่มบีอีซี ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไว้ในคู่มือจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ หัวข้อ “การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน” หน้า 9 ระบุว่า “กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน พึงมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริต การคอร์รัปชัน รวมทั้งจัดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ การกรรโชก การรับและ/หรือการให้สินบน สิ่งจูงใจในรูปแบบต่างๆ ยกเว้นการให้หรือการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจตามประเพณีนิยม ส่วนลดการค้า และ/หรือโครงการส่งเสริมการขายของบริษัท ในกรณีที่บริษัทจัดการฝึกอบรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน พนักงานพึงเข้ารับการอบรม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ความรู้เท่าทัน และเข้าร่วมการทดสอบความเข้าใจในการรับมือการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ” และแจกจ่ายให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน เพื่อศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร เพื่อแสดงจุดยืนที่บริษัทไม่เพิกเฉยต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

บริษัทยังให้ความรู้และแนวทางการปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันกับบุคลากรทุกคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนัก และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำหนังสือเวียนถึงประธานกรรมการและคณะกรรมการบริษัท ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง เพื่อสื่อสารเรื่องการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและป้องกันมิให้เกิดการทุจริต ซึ่งสรุปประเด็นที่สำคัญจากการเสวนา Strengthening Good Corporate Governance by Audit Committee and Independent Director: Experience from Fraud Cases เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 สื่อสารกรณีตัวอย่างการทุจริตที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารเรื่องความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย Blackout period และการปฏิบัติตามนโยบาย เพื่อเน้นย้ำให้บริษัทจดทะเบียน ต้องมีการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ และวิธีการดูแลกรรมการและผู้บริหาร เพื่อป้องกันการนำข้อมูลภายในไปใช้ในทางมิชอบ รวมทั้งติดตามดูแลการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เผยแพร่หัวข้อ “การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มบีอีซี” รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มบีอีซี และการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้แก่สังคมต่อประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไว้ในเว็บไซต์ www.becworld .com เพื่อให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ที่สนใจได้รับทราบการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขององค์กร โดยจะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้มีทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรแล้ว บริษัทยังเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอกที่มีแนวคิดด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันสอดคล้องกับองค์กร อาทิ เมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน 2563 เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ของ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทภารกิจในการส่งเสริม ขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ในหัวข้อ “คุณธรรมกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตในสังคมไทย” พร้อมทั้งร่วมระดมความคิดเห็นต่อสถานการณ์วิกฤตด้านคุณธรรมและแนวทางการแก้ไขปัญหาในกลุ่มเครือข่ายองค์กรสื่อมวลชน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อประเด็น/รูปแบบการขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติในอนาคต เป็นต้น

ในปี 2563 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้รับโล่เกียรติยศ “รางวัลช่อสะอาด ประจำปี 2563” สาขารายการโทรทัศน์ ประเภทผู้เผยแพร่รายการโทรทัศน์ ละครเรื่อง แก้วกลางดง, เขาวานให้หนูเป็นสายลับ, รายการวาไรตี้ ตลาดสดพระรามสี่ ตอน รัศมีแข: หัดขายยำสมุนไพรผัก 13 ชนิด และตอน ปิ่นโต อองตวน: หัดขายแซนวิช, ละครเรื่องหลวงตามหาชน ตอน ฉลาดแกมโกง ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนยกย่องบุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่มีส่วนสนับสนุนหรือส่งเสริมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานด้านสื่อที่มีเนื้อหาในการปลูกฝังและส่งเสริมคุณธรรม ตลอดจนป้องกันและปราบปรามการทุจริต