กลุ่มบีอีซีจับมือ 11 มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาบุคลากร
บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง บริษัท กับ ผู้แทนของ 11 มหาวิทยาลัย ในการร่วมมือกันทางด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ และ การส่งนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงานในบริษัทฯ โดยมี ผู้บริหารจาก บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) โดย ดร. อัครพล วีรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักบริหารทรัพยากร และ ผู้บริหารจาก บีอีซี สตูดิโอ นำโดย นายอภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บีอีซี สตูดิโอ เข้าร่วมในพิธี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารมาลีนนท์ ทาวเวอร์
ความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการหารือร่วมกันระหว่าง บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กับ 11 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันใน 2 หัวข้อใหญ่ คือ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยทางบริษัทจะจัดส่งวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปร่วมให้ความรู้กับนักศึกษาที่สถาบันการศึกษา และการรับนักศึกษาฝึกงานจากทางมหาวิทยาลัยในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อมาฝึกปฏิบัติงานและเพิ่มพูนประสบการณ์จริงในธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง
ดร. อัครพล วีรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักบริหารทรัพยากร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “การร่วมมือกับ 11 มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจจะได้ร่วมกันสร้างบุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมบันเทิง ผมเห็นถึงโอกาสและการเติมช่องว่างในการพัฒนาหลักสูตรและความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน”
ก่อนหน้านี้ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด ได้ร่วมกันจัดทำโครงการที่เป็นการพัฒนาบุคลากรด้านการเขียนบทมาแล้ว คือโครงการ “ Creator Program: นักคิดมากเรื่อง กับนักเขียนเรื่องมาก” เป็นการอบรมระยะเวลา 10 สัปดาห์ต่อเนื่อง โดยได้จัดการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาบุคลากรในครั้งนี้ ได้ส่งนักศึกษาเข้ามาร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งกลุ่มบีอีซีเชื่อว่าทุกคนควรได้รับสิทธิด้านการศึกษาและการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง