1. ธุรกิจคอนเทนต์
เป็นกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการเกี่ยวกับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง โทรทัศน์, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, การจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ, บริการจัดหา/ ผลิตรายการบันเทิงและสารคดี ดำเนินการโดย บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน), บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (“บางกอกฯ”), บริษัท บีอีซี - มัลติมีเดีย จำกัด (“BECM”), บริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด, บริษัท รังสิโรตม์วนิช จำกัด, บริษัท นิวเวิลด์ โปรดั๊กชั่น จำกัด, บริษัท บางกอกเทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น จำกัด, บริษัท ทีวีบี ทรี เน็ตเวอร์ค จำกัด
1.1 แพลตฟอร์มโทรทัศน์
บริการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial TV “DTTV”) : ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติโดยบริษัท บีอีซี - มัลติมีเดีย จำกัด (“BECM”)-บริษัทย่อยของบริษัทฯ ชนะการประมูลเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อประกอบกิจการให้บริการช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (“สำนักงาน กสทช.”) รวม 3 ใบอนุญาตฯ ได้แก่
- หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง “ช่อง 3HD ช่อง 33”
- หมวดหมู่ทั่วไป แบบความคมชัดปกติ “ช่อง 3SD ช่อง 28” และ
- หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว “ช่อง 3FAMILY ช่อง 13”
โดยใบอนุญาตฯ ทั้ง 3 ใบ มีกำหนดการอนุญาตฯ รวมระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2557 สิ้นสุดวันที่ 24 เมษายน 2572
ทั้งนี้ บางกอกฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (“กสท.”) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ต่อหน้าศาลปกครองกลางว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐ และกสท. ในการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกไปสู่ ระบบดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติต่อผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกทุกราย กสท.จึงตกลงพิจารณาอนุมัติให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ร่วมกับ บางกอกฯ นำสัญญาณช่อง 3 ระบบแอนะล็อก ไปออกอากาศแบบคู่ขนาน (Simulcast) ในช่องดิจิทัล 33HD แบบเดียวกับการคู่ขนานสัญญาณของช่อง 7 และช่อง 9 ซึ่งเป็นการ ออกอากาศคู่ขนานสัญญาณ แบบ Real Time Pass Through สัญญาณช่อง 3 แอนะล็อกบนช่องดิจิทัล 33HD และที่ประชุม กสท. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ได้มีมติอนุมัติผังรายการช่อง 33HD เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และช่อง 33HD ได้เริ่มนำสัญญาณช่อง 3 ไปออกอากาศคู่ขนานตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ในวันที่ 11 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ บริษัท บีอีซี - มัลติมีเดีย จำกัด (“BECM”)-บริษัทย่อยของบริษัทฯ จึงได้ทำการยื่นขอคืนช่อง 28SD และช่อง 13Family ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และ สิ้นสุดการดำเนินงานบนโทรทัศน์ดิจิทัลทั้ง 2 ช่อง ในวันที่ 30 กันยายน 2562 เรียบร้อยแล้ว
1.2 ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ให้บริการเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ โดยบริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด-บริษัทย่อยของบริษัท ได้ทำการเปิดตัว Mello ดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้ผลิตและนำเสนอคอนเทนต์อย่างเป็นทางการของบริษัท โดยให้บริการรับชมคอนเทนต์ย้อนหลังหลังการออกอากาศบนโทรทัศน์ ออริจินัลคอนเทนต์ (Original Content) รวมไปถึงคอนเทนต์ที่มีการผลิตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจากทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ได้มีการยกระดับรูปแบบการให้บริการทางธุรกิจดิจิทัล โดยมีการเปิดตัว “CH3Plus” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างแพลตฟอร์ม CH3Thailand ที่ให้บริการรับชมคอนเทนต์รายการสดพร้อมการออกอากาศทางโทรทัศน์ (Simulcast) และ แพลตฟอร์ม Mello ที่ให้บริการรับชมคอนเทนต์รีรัน โดย CH3Plus นับเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ (Solution Platform) ที่ให้บริการได้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ชม และผู้ลงโฆษณา
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ได้มีการยกระดับรูปแบบการให้บริการทางธุรกิจดิจิทัล โดยมีการเปิดตัว “CH3Plus” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างแพลตฟอร์ม CH3Thailand ที่ให้บริการรับชมคอนเทนต์รายการสดพร้อมการออกอากาศทางโทรทัศน์ (Simulcast) และ แพลตฟอร์ม Mello ที่ให้บริการรับชมคอนเทนต์รีรัน โดย CH3Plus นับเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ (Solution Platform) ที่ให้บริการได้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ชม และผู้ลงโฆษณา
1.3 การจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
คือการนำคอนเทนต์จากโทรทัศน์ไปสร้างรายได้ต่อยอดในต่างประเทศ โดยธุรกิจการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ เริ่มต้นดำเนินการในปี 2561 ที่มีการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงการผลิตรายการร่วมกับลูกค้าต่างประเทศ เพื่อออกอากาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2561 ได้มีการขายลิขสิทธิ์ละครในรูปแบบการ Simulcast ละครไปยังต่างประเทศ คือละครเรื่อง “ลิขิตรัก The Crown Princess” ออกอากาศบนแพลตฟอร์ม Tencent Video (OTT Platform)โดยมีผู้ชมมากกว่า 280 ล้านครั้ง และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 5 ของคอนเทนต์เนื้อหาภาษาไทยที่มีคนดูมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม ถือเป็นการเปิดตัวคอนเทนต์ละครของช่อง 3 ออกสู่ต่างประเทศที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม ซึ่งทำให้เกิดการขยายธุรกิจในรูปแบบอื่นๆตามมา เช่น การจ้างผลิตคอนเทนต์, การลงทุนผลิตคอนเทนต์ร่วมกัน (Co-Production) การจัดงานอีเว้นท์ (Event) การขายสินค้า และอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้บริษัทได้มีการทำสัญญาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและแพลตฟอร์มต่างๆทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้หลากหลายมากขึ้น
1.4 บริการจัดหา/ ผลิตรายการบันเทิงและสารคดี
เป็นการดำเนินการเพื่อจัดหาและผลิตคอนเทนต์รายการต่างๆเพื่อออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มอื่นๆ
2. ธุรกิจสนับสนุน
ดำเนินการโดย บริษัท บีอีซี บรอดคาสติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท สำนักข่าวบีอีซี จำกัด, บริษัท บีอีซี แอสเซท จำกัด, บริษัท บีอีซี ไอที โซลูชั่น จำกัด
ดำเนินธุรกิจให้บริการสารสนเทศ, บริการถือครองและเช่าสินทรัพย์, บริการอุปกรณ์ห้องสตูดิโอ, บริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น Post Production
ดำเนินธุรกิจให้บริการสารสนเทศ, บริการถือครองและเช่าสินทรัพย์, บริการอุปกรณ์ห้องสตูดิโอ, บริการที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น Post Production
รายได้หลักของกลุ่มบีอีซีส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายสื่อโฆษณา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายโฆษณาจากสื่อโทรทัศน์ และรายได้รองลงมาได้แก่ รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์ หรือให้บริการอื่นๆ ได้มาจากการจัดกิจกรรมบันเทิง การขายสิทธิ์การใช้รายการโทรทัศน์ การขายสิทธิ์ภาพยนตร์และละคร เพื่อนำออกจำหน่ายในรูปวีซีดี/ดีวีดี ภายในประเทศ การขายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศ (Global Content Licensing)และโฆษณาจากธุรกิจออนไลน์ที่ผ่านแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ของกลุ่มบีอีซี เช่น CH3Thailand และ CH3Plus รวมถึงแพลตฟอร์มพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีการให้บริการขายบัตรชมการแสดงและจำหน่ายตั๋วรถโดยสาร การให้บริการ Mobile Entertainment และการให้บริการอื่นๆ ถัดไปเป็นรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ (อ้างอิงจากโครงสร้างรายได้ปี 2563)
“Single Content Multiple Platform”
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์
1. รักษาตำแหน่งทางการตลาดเดิม และขยายฐานผู้ชมใหม่
เพื่อรักษาเรตติ้งทีวีและจำนวนผู้ชม บริษัทจึงต้องรักษาตำแหน่งทางการตลาดเดิม คือความเป็นสถานีอันดับหนึ่งในด้านความนิยมของผู้ชมโทรทัศน์ในกรุงเทพและหัวเมืองสำคัญ และพยายามขยายฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมอายุ 15-24 ปี และ 25-29 ปี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคอนเทนต์ละครในช่วง Prime Time, สร้างรายได้ในช่วง Non-Prime Time จากรายการข่าว และ รายการวาไรตี้ รวมถึง สร้างความแข็งแกร่งให้กับรายการสุดสัปดาห์ เพื่อขยายฐานผู้ชม
นอกจากนี้ หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเราคือ “คอนเทนต์” ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนในการพัฒนาคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นการเสริมสร้างจุดแข็งของบริษัท รวมถึงทำให้คอนเทนต์ของเราสามารถสร้างรายได้จากดิจิทัลแพลตฟอร์มและการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศได้ (Single Content Multiple Platform)
รายการข่าว
- มุ่งเน้นการนำเสนอข่าวที่ทันเหตุการณ์ และเชื่อถือได้ผ่านทางพิธีกรข่าวที่มีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพ
- นำเสนอรายการข่าวที่มีความโดดเด่น ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึก และการรายงานข่าวที่เข้าใจง่ายตรงประเด็น
- นำเสนอข่าวที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ สู่ผู้ชมทั้งทางออฟไลน์และดิจิทัล (Offline & Online Platforms) และเป็นศูนย์กลางการพึ่งพาของคนในประเทศ
- ใช้พื้นที่ข่าวดิจิทัล เพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างการรับรู้ และขยายฐานไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่
ละคร
- ขยายฐานผู้ชมสู่นอกเมืองและผู้ชมที่มีอายุน้อยลงผ่าน เนื้อหาและรูปแบบละครใหม่ โดยผู้ผลิตและดารานักแสดงรุ่นใหม่
- สร้างความน่าสนใจและความแปลกใหม่ให้กับผู้ชมผ่านคอนเทนต์ละคร, เทคนิคการเล่าเรื่องแบบใหม่, โครงเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก รวมไปถึงการรับบทบาทใหม่ๆของนักแสดง ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพของการผลิตที่มีชื่อเสียงของช่อง 3
วาไรตี้
- นำเสนอรายการวาไรตี้รูปแบบใหม่ทันสมัย โดยผู้ผลิตคุณภาพทั้งรายการที่เป็น International format และรายการที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง
- ปรับปรุงรูปแบบรายการวาไรตี้ที่แข็งแรงอยู่แล้วให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น
2. การสร้างและการกระจายรายได้ใหม่
เป้าหมายของบริษัทคือ การดำเนินการให้ธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยลดการพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาโทรทัศน์ภายในประเทศ เนื่องจากการโฆษณาทางโทรทัศน์มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงสร้างนวัตกรรมในการโฆษณารูปแบบใหม่ๆที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ลงโฆษณาในปัจจุบันได้ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง (เช่น Home shopping, QR, SMS) หรือ การรับรู้แบรนด์ และ การมีส่วนร่วมผ่านการตลาดแบบบูรณาการ (integrated marketing solutions) (เช่น การสนับสนุนแบบ Sponsorship, การTie-in และ การจัดกิจกรรม)
การดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform จะเป็นการสร้างและกระจายรายได้ในช่องทางอื่นๆ โดยบริษัทมีเป้าหมายให้ธุรกิจการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ (Global Content Licensing) และดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Online) เติบโตขึ้น 20% จากฐานรายได้ในปี 2563 ของแต่ละธุรกิจ สำหรับธุรกิจการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศนั้น บริษัทยังคงมีการดำเนินการที่เน้นประเทศจีน และ อาเซียนเป็นหลักและในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผ่านทาง Content Streaming Service Operations ต่างๆทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ บริษัทมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาบริการออนไลน์ โดยในปัจจุบัน ช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์มหลักของบริษัท คือ แอปพลิเคชั่น “CH3 Plus” ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ รับชมรายการทีวีสด รายการทีวีย้อนหลัง รวมทั้งเป็นรายการทีวีแบบบอกรับสมาชิก ซึ่งบริษัทได้ให้ความสำคัญกับแอพลิเคชั่น CH3Plus โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยผ่านทางรายการละคร สาระบันเทิงต่างๆ และความชื่นชมในเหล่าดารานักแสดงของบริษัท
3. สร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน
บริษัทมีการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินมาตลอด โดยในปี 2562 มีการปรับขนาดขนาดองค์กรให้กระชับ มีประสิทธิภาพ จากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (ใบอนุญาติทีวีดิจิทัล) ช่อง 28SD และช่อง 13Family รวมถึงในช่วงปี 2563 มีการยุติการออกอากาศบนช่อง 3 แอนะล็อกตามการสิ้นสุดลงของสัญญาระหว่าง บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุน ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ปรับกระบวนการทำงาน รวมไปถึงการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับการแข่งขันในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้องค์การสามารถปรับตัวต่อการแปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ