จุดเริ่มต้น
บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2510
ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมทุนกับหน่วยงานของรัฐเพื่อจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สีระบบ 625 เส้นขึ้น จึงได้ยื่นหนังสือขอร่วมลงทุนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 3 ธันวาคม 2510 และร่วมกับบริษัท ไทยโทรทัศน์จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2511
สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. จึงเริ่มวางศิลาฤกษ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2512 บริเวณกิโลเมตรที่ 19 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
อาคารทำการแรกของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แล้วเสร็จเมื่อประมาณต้นปี 2513 ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 6 ไร่เศษ ซึ่งประกอบไปด้วย ตึกอำนวยการ ตึกอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์และเสาอากาศ รวมทั้งตึกกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องทำความเย็น ตึกอำนวยการเป็นอาคารสูง 4 ชั้น มีห้องส่งทั้งหมด 4 ห้องมีการจัดตั้งจอขนาดใหญ่แบบไซโลคาม่า ใช้ในการทำภาพฉากท้องฟ้า โดยระบบนี้จะทำให้เกิดความชัดลึกและเปลี่ยนสีของฉากได้เสมือนจริง
ระยะแรกของการออกอากาศ สามารถให้บริการได้เฉพาะเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงรวม 18 จังหวัด หรือประมาณ 20.64% ของพื้นที่ประเทศไทย โดยเริ่มทดลองออกอากาศเต็มระบบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2513 และอีก 2 เดือนต่อมา คือวันที่ 15 มีนาคม 2513 เปิดสถานีตั้งแต่เวลา 09.30 น.
วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2513 เวลา 10.00 น. ถือเป็นเวลาฤกษ์การเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยได้ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และนับเป็นวันเริ่มสัญญาที่บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำร่วมกับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และจะสิ้นสุดสัญญาลงในวันที่ 25 มีนาคม 2523 โดยรวมไปถึงการได้ออกอากาศวิทยุกระจายเสียง ระบบ FM ความถี่ 105.5 เมกะเฮิรตซ์ ควบคู่กันไป โดยมีอาคารสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 2259 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม.
ก้าวแรก 2513 - 2521
รายการที่ออกอากาศในช่วงปีแรกๆ ส่วนมากจะเป็นรายการภาพยนตร์ชุด หรือภาพยนตร์เรื่องยาว การนำเสนอออกอากาศจะเป็นการพากย์สด ซึ่งช่อง 3 ได้ติดตั้งเทเลซีนจำนวน 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 มม. และ 35 มม. พร้อมเครื่องฉายสไลด์ เนื่องจากช่อง 3 ออกอากาศระบบ 625 เส้น 25 ภาพต่อวินาที ภาพยนตร์ที่ฉายจึงต้องฉายด้วยความเร็ว 25 เฟรมต่อวินาที ส่วนเสียงต้นฉบับในฟิล์ม (Sound Track) จะออกอากาศทางสถานีวิทยุ FM 105.5 เมกะเฮิรตซ์ควบคู่กันไป
ในปี 2519 ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ปรับปรุงคุณภาพในการนำเสนอรายการละคร โดยไม่มีการบอกบท มีการซ้อมการแสดงล่วงหน้า ทำการบันทึกเทปล่วงหน้าก่อนนำออกอากาศ โดยเริ่มด้วยละครเรื่อง "ไฟพ่าย" เพื่อออกอากาศติดต่อกันหลายวันในหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งแตกต่างจากการนำเสนอรายการสดในสมัยนั้นที่จะออกอากาศเพียงแค่เดือนละครั้งเท่านั้น
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยุบเลิกบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. ใน พ.ศ.2520 ขึ้นมาดำเนินการแทน ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2520 เป็นต้นไป เป็นผลให้บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มาเป็นคู่สัญญากับ อ.ส.ม.ท. แทน
การพัฒนา 2521 - 2531
ในปี 2521 ช่อง 3 เริ่มนำเทป U-matic มาใช้บันทึกละคร และใช้ในการโฆษณา ก่อนที่จะมาใช้กับข่าวผ่านดาวเทียมในวันที่ 17 กรกฎาคม 2521 เริ่มข่าวผ่านดาวเทียมมาออกอากาศเป็นสถานีแรกในประเทศไทยโดยการถ่ายทอดสดข่าวโดยตรงจากแหล่งข่าวทั่วโลกผ่านดาวเทียม โดยการบันทึกเทป U-matic ที่ประเทศฮ่องกงตอนเช้ามืดแล้วส่งม้วนเทปขนาดเล็ก ทางเครื่องบินมาถึงประเทศไทยตอนบ่ายเพื่อนำออกอากาศช่วงค่ำของวันเดียวกัน การนำเสนอข่าวผ่านดาวเทียมของสถานี ถือได้ว่าเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของการเสนอข่าว ทำให้ผู้ชมหันมาสนใจรายการข่าวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันการเสนอรายการข่าวอย่างจริงจังจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ. 2524 สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยอนุมัติของ นายวิชัย มาลีนนท์ และผู้บริหารสถานีฯ ได้จัดกิจกรรมให้ผู้ชมร่วมเสนอคำขวัญประจำสถานีฯ ทว่าไม่มีคำขวัญใดที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งนี้ ในอีกสามปีต่อมา นายวิชัย พร้อมด้วยผู้บริหารไทยทีวีสีช่อง 3 นำคำขวัญ ซึ่งได้มาจากการเสนอของผู้ชมในครั้งแรก มารวมเข้ากับแนวคิดของพนักงานของสถานีฯ จนกระทั่งได้คำขวัญว่า "คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3" โดยนำมาเผยแพร่ออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2527 เนื่องในโอกาสที่สถานีฯ มีอายุครบ 15 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม ปีเดียวกัน
ในปี 2527 ปัญหาการจราจรคับคั่ง ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น กลายเป็นอุปสรรคในการใช้อาคารที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เขตหนองแขม ซึ่งเป็นที่ผลิตรายการและการออกอากาศสดเช่นรายการข่าว และเพื่อให้การออกอากาศตรงเวลา ช่อง 3 จึงเริ่มสร้างห้องส่งในเมือง โดยใช้ห้องส่งอาคารโรบินสัน ถนนราชดำริ เป็นที่ผลิตรายการและการออกอากาศรายการสด แต่ต่อมาเมื่อมีการสร้างอาคารสูงๆเกิดขึ้น ก็เริ่มเป็นอุปสรรคในการเชื่อมโยงสัญญาณไมโครเวฟส่งสัญญาณไปออกอากาศที่สถานีเครื่องส่งหนองแขม ดังนั้น ในปี 2529 จึงย้ายห้องส่งมาที่อาคารวานิช โดยสร้างห้องส่งเพิ่มเป็น 3 ห้อง พร้อมนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ผลิตรายการที่ทันสมัยมาใช้งาน
ในช่วงเวลาเดียวกัน อ.ส.ม.ท. ได้อนุญาตให้ช่อง 3 แยกรายการข่าวไปดำเนินการเอง ช่อง 3 จึงเริ่มใช้เทป U-matic ถ่ายทำข่าวจำนวน 14 ชุด พร้อมนำเสนอรายการข่าวยุคใหม่ เริ่มเสนอข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียมจาก CNN และสำนักข่าว UPITN พร้อมกับการเริ่มใช้ OB ผลิตรายการนอกสถานที่ และได้เลิกใช้เครื่องฉายภาพยนตร์ออกอากาศสด คงใช้เฉพาะฉายภาพยนตร์เพื่อบันทึกเทป และใช้เทป U-matic โฆษณาแทนภาพยนตร์และสไลด์
ต่อมาทางสถานีฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ประชาชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีความเท่าเทียมกันในการรับบริการทางด้านข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงจากโทรทัศน์ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมมือกับ อ.ส.ม.ท. วางแผนขยายเครือข่ายโทรทัศน์ และทางรัฐบาลมีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าว ดังนั้น ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จึงได้ลงนามในสัญญาขยายเครือข่ายโทรทัศน์ทั่วประเทศกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขให้การดำเนินการจัดตั้งสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาค จำนวน 22 สถานี แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยแต่ละแห่งจะต้องติดตั้งเครื่องส่งและอุปกรณ์โทรทัศน์ให้ออกอากาศได้ทั้งช่อง 3 และ 9 และสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ทั้งหมดจะรับสัญญาณจากสถานีหลักในกรุงเทพมหานครผ่านระบบดาวเทียมอินเทลแซท และเครื่องรับสัญญาณไมโครเวฟจากการบริการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) จากสัญญาดังกล่าว บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะได้รับสิทธิ์ในการเป็นผู้ดำเนินการออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563
ก้าวไกลทั่วไทย 2531-2541
ทางสถานีฯ ได้เริ่มขยายสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2530 สามารถเปิดสถานีเครือข่าย 5 สถานีแรกออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2531 และขยายเครือข่ายครบ 22 สถานีตามสัญญาในเดือนกรกฎาคม 2532 จากนั้น อ.ส.ม.ท. และช่อง 3 ตกลงขยายเครือข่ายอีก 9 สถานี รวมสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาคทั้งหมด 31 สถานี ซึ่งช่อง 3 สามารถดำเนินการครบทั้ง 32 สถานีประมาณกลางปี 2534 ทำให้สามารถแผร่ภาพออกอากาศรวม 32 สถานีครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 89.7 สามารถให้บริการประชาชนได้ถึงร้อยละ 96.3 ของประชาชนทั่วประเทศ
ในช่วงปี 2530-2531 มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตรายการและข่าวโทรทัศน์ โดยเฉพาะในการถ่ายทำและบันทึกเทป เพื่อให้การผลิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ช่อง 3 จึงเริ่มพัฒนาด้วยการเปลี่ยนกล้องโทรทัศน์จากแบบที่ใช้หลอดรับภาพมาเป็นกล้องแบบ CCD ที่มีคุณภาพดีกว่า เพราะสามารถลดข้อบกพร่องที่เกิดจากกล้องโทรทัศน์จากแบบที่ใช้หลอดรับภาพได้
ก้าวรุดหน้า 2541 - 2548
เมื่อสัญญาใช้บริการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมจากส่วนกลางสู่สถานีเครือข่ายกับ กสท. สิ้นสุดลงในปี 2541 ช่อง 3 จึงได้ตัดสินใจติดตั้งสถานีส่งสัญญาณโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมขนาด 11 เมตร และ ดำเนินการส่งสัญญาณฯ ผ่านดาวเทียมไทยคม 2 ระบบแอนะล็อก จากสถานีฯหนองแขมสู่สถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาคด้วยตัวเองตั้งแต่นั้นมา
ในปี 2542 มีการย้ายสำนักงานไปที่อาคารเอ็มโพเรี่ยม ถนนสุขุมวิท ด้วยการติดตั้งห้องส่ง จำนวน 3 ห้องส่งสำหรับการผลิตรายการและควบคุมการออกอากาศ โดยมีการใช้ CG มากขึ้น และเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาคให้มีคุณภาพดีตลอดไป จึงได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องส่งต่างๆ หลายสถานี โดยการปรับเปลี่ยนระบบสายอากาศและเพิ่มกำลังเครื่องส่งเพื่อให้ขอบเขตการบริการกว้างขึ้น เสร็จสิ้นในปี 2542
ต่อมาในปี 2543 เริ่มใช้เครื่องเทปดิจิทัล Betacam SX บันทึกรายการและการถ่ายทำข่าว และได้เริ่มใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ในปี 2544 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล
การปรับเปลี่ยนเครื่องส่งสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาคยังคงดำเนินการอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมหรือเพื่อแก้ไขปัญหาการรบกวนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในกรณีสถานีเครือข่าย จ.สตูล เดิมออกอากาศช่อง 11 ระบบ VHF ต้องเปลี่ยนเป็นระบบ UHF ช่อง 55 เป็น UHF สถานีแรกของช่อง 3 ในปี 2544 นอกจากนั้นได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องส่งที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ระบายความร้อนด้วยของเหลว สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงได้มาก เริ่มจากสถานีนครศรีธรรมราชในปี 2545 ต่อด้วย สถานีอุบลราชธานี นครสวรรค์ หนองบัวลำภู และสุราษฎร์ธานี ในปี 2547
ก้าวไกลไทยทีวีสีช่อง 3 2548 - 2555
ในปี 2548 ช่อง 3 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่อาคารมาลีนนท์ ถนนพระราม 4 โดยเทคโนโลยีการออกอากาศอยู่ที่อาคาร M2 มีห้องส่ง 9,10, และห้องส่ง 12 พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ห้องส่งระบบ Digital SD ทั้งกล้องโทรทัศน์ อุปกรณ์ตัดต่อภาพ และเครื่องใช้เทประบบ IMX Digital VTR แทนเทปแอนะล็อก Betacam SP ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ยุคดิจิทัลและ IT ช่อง 3 จึงเริ่มใช้ระบบ Video Server สำหรับงานโฆษณา งานโปรโมท แทนการใช้เทป พร้อมกับได้เพิ่มระบบส่งสัญญานโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม 2 เป็น Digital MPEG-2 จากอาคารมาลีนนท์ 2 โดยมีสถานีดาวเทียมหนองแขมเป็นสถานีส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมคู่ขนานในระบบแอนะล็อก
ปลายปี 2548 สถานีหลักที่กรุงเทพมหานคร และสถานีเครือข่ายอีก 4 สถานี ที่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย นครราชสีมา และสงขลา ได้เปลี่ยนระบบการแพร่ภาพออกอากาศจากระบบ VHF LOW BAND เป็นระบบ UHF ทั้งนี้เพื่อให้การรับชมของผู้ชมในพื้นที่การออกอากาศของแต่ละสถานีมีประสิทธิภาพและชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยได้เริ่มทดลองออกอากาศด้วยระบบ UHF ช่อง 32 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2548 และได้แพร่ภาพให้ได้รับชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 เวลา 09.39 น.
นอกจากนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการแพร่ภาพ และให้ผู้ชมได้รับสัญญาณภาพและเสียงที่สมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ทางสถานีฯ ได้ปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์ใหม่แทนเครื่องส่งโทรทัศน์เดิมทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีฯ เชียงราย ลำปาง สกลนคร และชุมพร โดยทั้งหมดเป็นเครื่องส่งโทรทัศน์ที่ทำงานด้วยระบบ Solid State ระบายความร้อนของภาคขยายกำลังสูงด้วยของเหลว
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ลงนามในสัญญาซื้อระบบ Digital News Room มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท จากบริษัท โซนี่ไทย จำกัด เพื่อนำมาใช้ในการผลิตและการนำเสนอรายการข่าวของสถานี โดยนักข่าวสามารถใช้ระบบ News Room Computer System เพื่อค้นหาข้อมูล ทั้งปัจจุบันและข้อมูลย้อนหลัง เพื่อนำมาใช้งานได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
วันที่ 29 มิถุนายน 2550 สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยังได้ร่วมลงนามเซ็นสัญญาเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 2 เพื่อเพิ่มจากสัญญาณเดิม 9 MHz เป็น 1 ทรานสพอนเดอร์ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพในการผลิตรายการข่าวของทางสถานี
ในปี พ.ศ. 2555 เป็นปีที่ทางสถานีฯ ได้นำระบบบริหารการผลิตและการออกอากาศรายการโทรทัศน์ หรือ MAM (Media Asset Management) มาใช้ในการวางแผนรายการ การควบคุม การผลิตรายการ และการออกอากาศ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการออกอากาศให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงยังได้วางแผนปรับปรุงคุณภาพเทคโนโลยีทุกระบบในปัจจุบันเพื่อก้าวเข้าสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลความคมชัดสูง (HDTV) โดยได้ปรับปรุงอุปกรณ์ระบบห้องส่งให้รองรับการใช้งานแบบ High Definition พร้อมจัดหาระบบห้องส่งเสมือนจริง (Virtual Studio) และได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบ Graphic Network และ Character Generator ให้รองรับการใช้งานระบบ HD การปรับปรุงทั้งหมดดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 แล้วเสร็จสามารถใช้งานแบบ HD ได้อย่างสมบูรณ์ภายในเดือนเมษายน 2556 นอกจากจะนำเทคโนโลยี IT มาใช้ในการบริหารจัดการควบคุมการผลิตด้วยระบบ MAM แล้ว ยังได้กำหนดมาตรฐานการบีบอัดสัญญาณของสถานีฯ เป็นมาตรฐาน AVC-Intra ทั้งรายการโทรทัศน์ และการผลิตข่าวในระบบ HD เพื่อพัฒนาคุณภาพรายการและข่าวให้มีคุณภาพเป็นมาตรฐานสากล
ก้าวสู่ยุคทีวีดิจิทัล 2555-ปัจจุบัน
ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบการรับ–ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อก เป็นระบบ “ดิจิทัล” (Digital Television) ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้ประกาศแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ทีวีดิจิทัลในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก
วันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 กลุ่มบีอีซี บริษัทแม่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มอบหมายให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด บริษัทลูกอีกแห่งหนึ่ง เข้าประมูลช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ทั้งสามประเภทคือ รายการทั่วไป ภาพคมชัดสูง (HD - High Definition), รายการทั่วไป ภาพคมชัดปกติ (SD - Standard Definition), รายการเด็กและครอบครัว (Family)
วันที่ 27 มกราคม 2557 กสทช.ประกาศหมายเลขช่อง ที่แต่ละบริษัทซึ่งผ่านการประมูลเลือกไว้ในการประชุมร่วมกัน โดยในส่วนของ บีอีซี-มัลติมีเดีย ผลปรากฏว่า รายการเด็กและครอบครัว (Family) ได้หมายเลข 13 , รายการทั่วไป ภาพคมชัดปกติ (SD) ได้หมายเลข 28 และรายการทั่วไป ภาพคมชัดสูง (HD) ได้หมายเลข 33
วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 ซึ่ง กสทช.กำหนดเป็นวันเริ่มต้น ออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ บีอีซี-มัลติมีเดีย ก็เริ่มออกอากาศรายการต่าง ๆ ตามผังที่กำหนดของแต่ละช่องทั้ง 3 ช่อง ระหว่างเวลา 16:00 - 00:00 น. ของทุกวัน เนื่องจากผู้รับสัมปทานช่องสัญญาณที่ 3 ของโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเดิม ในชื่อไทยทีวีสีช่อง 3 คือ บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เป็นคนละนิติบุคคลกับ ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ทั้ง 3 ช่องของโทรทัศน์ระบบดิจิทัล คือ บจก.บีอีซี-มัลติมีเดีย จึงไม่สามารถนำรายการทั้งหมด จากช่องโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเดิม มาออกอากาศคู่ขนานทางช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้ง 3 ดังที่ดำเนินการมาในระยะทดสอบสัญญาณได้
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 กสทช.ลงมติเพิกถอนโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ยุติการออกอากาศผ่านระบบโทรทัศน์ดาวเทียม และเครือข่ายโทรทัศน์ทางสายเคเบิล ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อาศัยความในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 27 ประกอบกับ ความในสัญญาสัมปทานโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ซึ่งทำไว้กับ อ.ส.ม.ท. จนถึงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยให้ กสทช. กับผู้บริหารไทยทีวีสีช่อง 3 เปิดการเจรจาเข้าไกล่เกลี่ยกันเพื่อรักษาสิทธิในการออกอากาศต่อไปตามเดิม โดยนำสัญญาณภาพและเสียงทั้งหมดของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในระบบแอนะล็อก ไปออกอากาศด้วยระบบภาพคมชัดสูง (HD) ทางช่องหมายเลข 33 ของตนในระบบดิจิทัล ภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557
อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทได้ทำการยื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เมื่อ กสทช. ได้ออกระเบียบให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคืนใบอนุญาตได้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จากการที่ตลาดตลาดของโฆษณาไม่ได้เติบโตอย่างที่คาด ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายประสบภาวะการขาดทุนอยย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ยื่นคืนช่อง 13 และช่อง 28 และหยุดออกอากาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ทำให้ยังคงเหลือการออกอากาศที่ช่อง 3 และช่อง 33 ต่อไป
ตลอดเวลา 50 ปี แห่งความเป็นผู้นำของช่อง 3 จะเห็นว่าได้มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ช่อง 3 ใช้เทคโนโลยีนำหน้าในการเพิ่มคุณภาพของรายการ เพื่อตอบสนองและมอบความพึงพอใจให้แก่ผู้ชมที่ติดตามผลงานของช่อง 3 ตลอดมา การดำเนินการทางด้านเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นไปตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการฯ กับ อ.ส.ม.ท. โดยช่อง 3 ได้ดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ในส่วนที่ใช้งานด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ดำเนินการซ่อมแซมเปลี่ยนชิ้นส่วนตามอายุ และจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาทดแทนให้อยู่ในสภาพปฏิบัติงานได้ดีตลอดเวลา
ปัจจุบันสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีรูปแบบการบริหารองค์กร โดยแบ่งหน่วยงานย่อยออกเป็น 18 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายผลิตรายการ, ฝ่ายข่าว, ฝ่ายรายการ, ฝ่ายออกอากาศ, ฝ่ายศิลปกรรม, ฝ่ายวิศวกรรม, ฝ่ายเทคนิคโทรทัศน์, ฝ่ายแผนงานวิศวกรรม, ฝ่ายไฟฟ้ากำลัง, ฝ่ายสถานีวิทยุกระจายเสียง (เอฟ.เอ็ม.105.5 เมกะเฮิร์ตซ์), ฝ่ายธุรการ, ฝ่ายบุคคล, ฝ่ายบัญชี, ฝ่ายการเงิน, ฝ่ายโฆษณา, ฝ่ายการตลาด และฝ่ายประชาสัมพันธ์
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะผลิตสร้างสรรค์และแสวงหารายการให้สอดคล้องกับรสนิยมอันหลากหลายของผู้ชมมานำเสนอ ทั้งนี้เพื่อจะนำความสุขความสำราญให้กับผู้ชมทั้งหลายให้เพิ่มมากขึ้น และสิ่งที่ดำเนินการควบคู่กันมาก็คือการนำเสนอสาระ ความรู้ เพื่อเปิดโลกทัศน์อันกว้างไกล รวมถึงการสร้างรสนิยมใหม่ๆ ผ่านทางรายการต่างๆ ของสถานีฯ มาโดยตลอด และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็จะยังคงเป็นปณิธานที่ทางสถานีฯ จะยึดมั่นและดำเนินการต่อไปในอนาคต ดังคำขวัญประจำสถานีที่ว่า "คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3"
ช่อง 3 บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม & โกอินเตอร์
ช่อง 3 ปรับตัวตามพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น แม้ความต้องการรับชมคอนเทนต์ของช่อง 3 ยังมีอยู่สูง แต่ผู้ชมมีพฤติกรรมการชมบนแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงไป สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จึงพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้ชมบนโลกดิจิทัล ภายใต้แบรนด์ “Ch3Thailand” และ “Mello” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น 3Plus (สามพลัส) ดำเนินงานบริหารโดยบริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้ บมจ. บีอีซี เวิลด์
“3Plus” คือสื่อออนไลน์อย่างเป็นทางการของช่อง 3 ครอบคลุมทั้ง แอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย เปิดให้บริการดูทีวีออนไลน์ ทั้งคอนเทนท์ละคร ข่าว และบันเทิงอื่น ๆ แบบคู่ขนานกับหน้าจอทีวี ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชมที่กำลังเดินทางหรือติดภารกิจอยู่นอกบ้าน ได้รับชมรายการจากทางสถานีฯ ทุกที่ทุกเวลา และมีระบบสมาชิกเรียกว่า 3Plus Premium ที่จะมีคอนเทนต์ที่มากกว่า สิทธิพิเศษ และโอกาสในการทำกิจกรรมใกล้ชิดนักแสดง เป็นต้น
ช่อง 3 ดำเนินการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ของละครเพื่อออกอากาศในต่างประเทศ รวมถึงการผลิตรายการร่วมกับลูกค้าต่างประเทศเพื่อออกอากาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีทั้งการจำหน่ายตรงให้กับลูกค้าในประเทศนั้น ๆ และจำหน่ายผ่านตัวแทนลิขสิทธิ์เพื่อที่จะขยายตลาดให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้การจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจออกสู่ตลาดโลกในรูปแบบอื่น เช่น การจัดงานอีเว้นท์ในต่างประเทศเพื่อโปรโมทคอนเทนต์ กิจกรรมของดารานักแสดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด ซึ่งบริษัทย่อยของ บมจ. บีอีซี เวิลด์ เพื่อเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์แบบครบวงจร เพื่อโอกาสในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงและการผลิตคอนเทนต์
เพิ่มช่องทางรายได้
สำหรับการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากการรักษารายได้จากการโฆษณาทางโทรทัศน์และเพิ่มรายได้จากดิจิทัลแพลตฟอร์มและการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศแล้ว ช่อง 3 ยังขยายไปยังธุรกิจภาพยนตร์ บริษัทฯ ได้จัดตั้งกิจการร่วมค้ากับ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตภาพยนตร์ เพื่อประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์ อาทิ บัวผันฟันยับ (2565) และ ธี่หยด ()2566) เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการริเริ่มธุรกิจเพลง การบริหารศิลปิน และการบริหารรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หรือ IP Rights อีกด้วย
ก้าวสุดท้ายของทีวีแอนะล๊อก : พ.ศ. 2563
วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กสทช. ได้มีมติให้ยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน กสทช.จึงมีมติให้วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ถือเป็นวันสิ้นสุดการออกอากาศในระบบแอนะล็อกเดิม และได้มีมติให้ช่อง 3 ยกเลิกการออกอากาศคู่ขนานกับระบบดิจิทัลทางช่อง 33 โดยหากช่อง 3 ยังต้องการออกอากาศแบบคู่ขนาน ให้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้จัดสรรเนื้อหาให้ช่อง 33 แต่เพียงผู้เดียว แล้วให้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนต์เมนต์ จำกัด นำเนื้อหาของช่อง 33 ไปออกอากาศทางระบบแอนะล็อกเดิมแทน อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 ไม่สามารถยกเลิกระบบเดิมได้ โดยมีสาเหตุมาจากสัมปทานที่ทำไว้กับ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ยังคงไม่หมดอายุและยังเป็นภาระผูกพันที่ต้องดำเนินการจนถึงวันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 รับมติของ กสทช. เพียงเรื่องเดียว คือการแยกตราสัญลักษณ์ของสถานีออกจากกัน โดยช่อง 3 ใช้วิธีการแสดงสัญลักษณ์ของระบบแอนะล็อกไว้ที่มุมล่างขวา ในขณะที่ระบบดิจิทัลยังคงยึดตำแหน่งเดิมคือมุมบนขวา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบแอนะล็อก บจก. บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ สิ้นสุดสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี กับ บมจ. อสมท และหยุดออกอากาศอย่างสมบูรณ์หลังเที่ยงคืนวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืน บมจ. อสมท เป็นที่เรียบร้อย โดยคณะกรรมการ บมจ. อสมท. ได้มีมติอนุมัติการคืนทรัพย์สินดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการปิดฉากทีวีแอนาล๊อกอย่างสมบูรณ์ หลังดำเนินการออกอากาศในระบบอนาล็อกทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอรายการต่าง ๆ ทั้งละคร รายการข่าว รายการวาไรตี้ การถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ๆ มาตลอด 50 ปี ซึ่งต่อไปผู้ชมจะยังสามารถรับชมช่อง 3 ต่อเนื่องในระบบทีวีดิจิทัล ช่อง 33 และแอปลิเคชัน 3Plus ต่อไป
บทสรุป
ตลอดเวลากว่า 54 ปี แห่งความเป็นผู้นำ ช่อง 3 ได้มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยใช้เทคโนโลยีนำหน้าในการเพิ่มคุณภาพของรายการ เพื่อตอบสนองและมอบความพึงพอใจให้แก่ผู้ชมที่ติดตามผลงานของช่อง 3 ตลอดมา
ปัจจุบัน บมจ. บีอีซี เวิลด์ บริษัทแม่ของ ไทยทีวีสีช่อง 3 มีรูปแบบการบริหารองค์กร โดยแบ่งหน่วยงานย่อยออกเป็น 14 สำนัก ประกอบด้วย สำนักผลิตรายการ สำนักข่าว สำนักผังรายการ สำนักการเงินและการบัญชี สำนักการลงทุน สำนักการตลาด สำนักบริหารทรัพยากร สำนักการพาณิชย์ สำนักเทคนิคโทรทัศน์ สำนักธุรกิจระหว่างประเทศ สำนักดิจิทัลและกลยุทธ์สื่อใหม่ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักตรวจสอบภายใน และสำนักกิจการและสื่อสารองค์กร
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น บมจ. บีอีซี เวิลด์ บริษัทแม่ของ ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์และแสวงหารายการให้สอดคล้องกับรสนิยมอันหลากหลายของผู้ชมมานำเสนอ ทั้งนี้เพื่อจะนำความสุขให้กับผู้ชม นำเสนอสาระ ความรู้ เพื่อเปิดโลกทัศน์อันกว้างไกล รวมถึงการเป็นองค์กรที่เคียงข้างคนไทยในการช่วยเหลือกันในยามเดือนร้อน และสร้างสรรค์สิ่ง ดี ๆ ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่กล่าวมาเป็นปณิธานที่ทางสถานีฯ จะยึดมั่นและดำเนินการต่อไปในอนาคต ดังคำขวัญประจำสถานีที่ว่า “คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง 3”